มีหลักฐานเพิ่มเติมว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเผาผลาญและการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด

จากผลการวิจัยด้านการนอนหลับที่ทำขึ้นไม่นานนี้พบว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น หากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน อาจทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ฮอร์โมนความเครียด และความดันโลหิตสูงขึ้นได้ รายงานผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2017 มีเนื้อหาสนับสนุนการใช้เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจแบบต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure หรือ CPAP) ซึ่งช่วยเพิ่มความดันลมในลำคอเพื่อทำให้ทางเดินหายใจเปิดในระหว่างการนอนหลับ

“นี่คืองานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่แสดงให้เห็นผลของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มีต่อการเผลผลาญได้อย่างทันทีทันใด” นายแพทย์ Jonathan Jun ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสาขาการแพทย์จาก Johns Hopkins University School of Medicine และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยอาวุโสกล่าว

จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Epidemiology และ Lancet Respiratory Medicine พบว่า มีผู้ใหญ่ร้อยละ 20-30 ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea หรือ OSA) ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อทางเดินหายใจส่วนบนถูกปิดกั้น ซึ่งจะไปแทรกแซงการหายใจ และแม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันว่า OSA นั้นเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคหัวใจ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเป็นสาเหตุของโรคเหล่านี้หรือเป็นเพียงสัญญาณของภาวะโรคอ้วน ซึ่งก่อให้เกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins กล่าวว่าการศึกษาระบบเผาผลาญในผู้ป่วยที่ผ่านมานั้นมักจะทำการเก็บข้อมูลเมื่อผู้ป่วยตื่นนอนอยู่ จึงเห็นเพียงภาพของผลกระทบที่เกิดจาก OSA เท่านั้น ไม่ใช่ช่วงเวลาระหว่างการนอนหลับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดภาวะ OSA ขึ้นจริงๆ

เพื่อที่จะเข้าใจถึงผลของ OSA ที่มีต่อการเผาผลาญ นักวิจัยทำการวัดปริมาณกรดไขมันอิสะระในเลือด กลูโคส อินซูลิน และคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) ในขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับในห้องวิจัยการนอนของ Johns Hopkins Bayview Medical Center นอกจากนี้ยังมีการบันทึกคลื่นสมอง ระดับออกซิเจนในเลือด อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจ ตลอดจนการเคลื่อนไหวของดวงตาและขาของผู้ป่วยทุกๆ คืนหลังจบการวิจัยในวันนั้นอีกด้วย

Jun และเพื่อนร่วมงานของเขาได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วย 31 รายที่มีภาวะ OSA ในระดับปานกลางถึงรุนแรง และเคยใช้ CPAP อย่างเป็นประจำเป็นเวลา 2 คืน โดยทำการเจาะเลือดทุกๆ 20 นาที เริ่มตั้งแต่ 21:00 น. จนถึง 6:40 น. ผู้ป่วยทั้งหมดถูกสุ่มให้มาค้างคืนที่ห้องวิจัย ในระหว่างที่ใช้ CPAP หรือหยุดใช้ CPAP ไปแล้ว โดยมีการเว้นช่วงตั้งแต่ 1-4 สัปดาห์

อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยคือ 50.8 ปี และมีค่าดัชนีมวลกายระบุว่ามีภาวะโรคอ้วน ซึ่งเป็นลักษณะที่พบบ่อยในผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจ

2 ใน 3 ของกลุ่มที่เข้าร่วมการวิจัยเป็นเพศชาย และ 1 ใน 4 เคยมีประวัติเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ร้อยละ 22.6 มีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ร้อยละ 9.7 เชื้อสายเอเชีย ร้อยละ 64.5 เป็นคนผิวขาว และร้อยละ 3.2 เชื้อสายฮิสแปนิก

Jun และเพื่อนร่วมงานพบว่าการหยุดใช้ CPAP ส่งผลให้ภาวะ OSA กลับมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถูกแทรกแซงการนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้น และระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลง และยังทำให้ระดับกรดไขมันอิสระ กลูโคส คอร์ติซอล และความดันโลหิตเพิ่มขึ้นในขณะนอนหลับอีกด้วย และค่าเหล่านี้จะสูงขึ้นตามอาการของ OSA นอกจากนี้ยังพบว่า ระดับกลูโคสเพิ่มขึ้นมากที่สุดในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน และการเพิ่มขึ้นของกรดไขมัน กลูโคส และคอร์ติซอลล้วนเกี่ยวข้องกับเบาหวานทั้งสิ้น และยังพบว่าเมื่อไม่ใช้ CPAP ความดันโลหิตจะสูงขึ้นและหลอดเลือดแดงมีการแข็งตัวในตอนเช้า ในระยะยาวแล้วจะก่อให้เกิดโรงหัวใจและหลอดเลือด

Jun เน้นย้ำว่างานวิจัยนี้จำกัดอยู่เพียงการศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการ OSA ขั้นรุนแรงและมีภาวะโรคอ้วน ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดในการประยุกต์ใช้ผลการวิจัยกับผู้ป่วย OSA ทั้งหมด นอกจากนี้ นักวิจัยก็ไม่ได้เปรียบเทียบกลุ่มที่ใช้ CPAP กับกลุ่มที่ใช้ CPAP หลอก เพื่อตัดผลกระทบจาก placebo effect แต่ Jun ก็กล่าวว่างานวิจัยนี้แสดงข้อพิสูจน์เพิ่มเติมว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้ไม่ได้เป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังสามารถส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้นอีกด้วย ทีมงานยังคงรับสมัครผู้ป่วยมาเข้าร่วมการวิจัย เพื่อที่จะตอบคำถามให้ได้มากขึ้น ว่าผู้ป่วยประเภทใดที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจาก OSA มากที่สุด

การวิจัยครั้งนี้ได้ตอดย้ำความสำคัญของการรักษาภาวะ OSA โดยใช้ CPAP เพื่อที่จะป้องกันผลเสียที่จะเกิดต่อระบบเผาผลาญและระบบหัวใจและหลอดเลือด ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจพบว่าการใช้ CPAP นั้นเป็นเรื่องยาก จึงสำคัญมากที่ผู้ป่วยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับที่สามารถให้ความช่วยเหลือในการใช้ CPAP ได้ หรืออาจแนะนำวิธีรักษาอื่นให้

ผู้ร่วมทำวิจัยอื่นๆ ได้แก่ Swati Chopra, Aman Rathore, Haris Younas, Luu V. Pham, Aleksandra Beselman, Il-Young Kim, Robert R. Wolfe และ Vsevolod Y. Polotsky จาก Johns Hopkins University, Chenjuan Gu จาก Shanghai Jiao Tong University School of Medicine และ Jamie Perin จาก University of Arkansas for Medical Sciences