3 โรคความผิดปกติภายใต้การนอนหลับ (Sleep Disorder) ที่พบบ่อย

1. โรคลมหลับ (Narcolepsy)

อาการง่วงนอน นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ เผลอหลับโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่นิสัยขี้เกียจหรือโรคจิต นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยจากโรคลมหลับ เกิดจากการขาดสารสื่อประสาทในสมองตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวหลั่งเพื่อแยกการหลับและการตื่น มักมีอาการหลับแทรกตื่นและตื่นแทรกหลับ เช่น นั่งคุยอยู่ดีๆ พอมีอารมณ์ขำก็ฟุปไป อีกสักพักก็ลุกขึ้นมาคุยใหม่ บางรายมีอาการผีอำ นอนขยับตัวไม่ได้ สักพักถึงจะลุกได้ หรือหูแว่ว….

โรคลมหลับส่วนใหญ่เกิดกับคนอายุน้อย บางคนเป็นตั้งแต่เด็กจนโต เรียกได้ว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ แล้วขับรถก็อาจเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในได้ ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ การตรวจ Sleep Test ในช่วงกลางคืน ตามด้วยการตรวจความง่วงนอนในช่วงกลางวัน ช่วยในการวินิจฉัยและตรวจวัดความรุนแรงของโรคได้

2.นอนไม่เป็นเวลา (Circadian Rhythm Disorder)

พบได้ในกลุ่มนักบิน นักธุรกิจที่นั่งเครื่องบินนานๆ มักเกิดภาวะนอนไม่หลับจากการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตเวลา (Jet Lag) หรือผู้ที่ทำงานเป็นกะ ส่วนวัยรุ่นมักเกิดกับคนที่นอนดึกตื่นสาย หรือคนสูงอายุที่นอนแต่หัววันแต่ตื่นเช้า บ้างก็ตื่นกลางดึก การนอนตอนใกล้เช้าและตื่นตอนบ่ายหรือค่ำทำให้การนอนหลับผิดเพี้ยนไป ง่วงนอนในขณะเรียน/ทำงาน ทำให้ความจำแย่ ตื่นสาย….

ควรปรับเวลาเข้านอนให้คงที่ให้ร่างกายชินกับเวลานอน ร่วมกับสวมแว่นสีเหลือง เปิดไฟสีส้มอ่อนที่บ้านในช่วงค่ำ งดเล่นมือถือ ก่อนนอนเพื่อป้องกันแสงสีฟ้า ซึ่งจะไปยับยั้งการหลั่งสารเมลาโทนินในสมองทำให้นอนดึก เปิดหน้าต่างให้เร็วขึ้นหลังตื่นตอนเช้า จะช่วยทำให้เข้านอนตอนดึกได้เร็วขึ้น หากยังไม่สามารถได้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

3. โรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)

นอนกรนเฉยๆ ไม่อันตราย แต่อย่าละเลยถ้าอาการนอนกรนของคุณ มีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย หายใจเสียงดังมากขณะนอนหงาย กระสับกระส่ายหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นตอนกลางดึก ขาขยุกขยิก หยุดหายใจเป็นพักๆ อ่อนเพลีย ง่วงนอนตอนกลางวัน หลับในเป็นประจำขณะขับรถ ปวดหัวเมื่อตื่น พบบ่อยโดยเฉพาะคนอ้วนที่มีผนังคอหนา เนื้อเยื่อในช่วงลำคอหย่อนขณะนอนหลับ ทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้น “หยุดหายใจขณะนอนหลับ” เป็นช่วงๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมายเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ

หากสงสัยว่าเรามี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือไม่ สามารถพบแพทย์เพื่อเข้าตรวจการนอนหลับ Sleep test เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป